กลยุทธ์การบริหารบัญชีเพื่อธุรกิจก้าวไกล ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจ

กลยุทธ์การบริหารบัญชีเพื่อธุรกิจก้าวไกล ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจ



    บัญชีถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ถูกนำมาใช้เพื่อการอธิบายผลการดำเนินงานต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงสามารถทำการตรวจสอบได้โดยเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าข้อมูลทางด้านอื่นระบบบัญชีจึงเป็นแหล่งสะสมข้อมูล
ที่มีความหมายต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น ข้อมูลรายรับ รายจ่าย ต้นทุนการผลิต จำนวนสินค้าที่จำหน่าย จำนวนสินค้าคงเหลือ
เป็นต้น ซึ่งหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถบริหารจัดการระบบบัญชีได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ระบบบัญชีจะเป็นเครื่องมือที่มีส่วนช่วยผู้ประกอบการในการวิเคราะห์ การตรวจสอบ และตัดสินใจทางธุรกิจได้มาก แม้ว่าผู้ประกอบการ SME ขนาดเล็กที่มีธุรกรรมไม่ซับซ้อน และมีสินทรัพย์ไม่มากนัก อาจจัดทำบัญชีตามความสะดวกของผู้ประกอบการเอง เพียงเพื่อต้องการทราบรายละเอียดการดำเนินธุรกิจเบื้องต้น แต่ด้วยภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน การทราบรายละเอียดการดำเนินธุรกิจเพียงเบื้องต้นอาจไม่เพียงพอ อีกต่อไป อันจะนำมาซึ่งความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น  การจัดทำระบบบัญชีที่ได้มาตรฐานจะช่วยแสดงสถานะทางการเงิน  สถานะการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบการดำเนินการต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการวิเคราะห์และตัดสินใจทางธุรกิจได้ดีขึ้น และยังเป็นการสร้างระบบการตรวจสอบเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตอีกด้วย

      ข้อมูลทางบัญชีมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในทุกลำดับขั้น นับตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ เช่น การใช้งบการเงินที่แสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของธุรกิจ ให้ผู้บริหารทราบถึงศักยภาพของบริษัทเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของธุรกิจ
ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้น ระบบข้อมูลทางบัญชียังถูกนำมาใช้ประกอบการกำหนดวัตถุประสงค์ต่างๆ ขององค์กร รวมไปถึงการวิเคราะห์ต้นทุนและกำไร เพื่อทราบถึงจุดคุ้มทุน อัตราผลตอบแทนทางการเงินจากการลงทุนต่างๆ ตามแผนกลยุทธ์ขององค์กรธุรกิจที่ตั้งไว้ ขณะที่ในระหว่างนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติงานจริง ผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลทางบัญชีเพื่อการสั่งการ และจูงใจพนักงานในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้  และใช้ข้อมูลทางบัญชีเพื่อตรวจสอบว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดเกิดขึ้น เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงแผนการปฏิบัติงาน หรือวางแผนใหม่สำหรับระยะเวลาต่อไปให้ดีขึ้น
กว่าช่วงที่ผ่านมา

      ทั้งนี้ การบริหารบัญชีให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะประยุกต์ใช้ในยามวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจให้แข็งแกร่ง ลดต้นทุนและจุดบกพร่องของการดำเนินธุรกิจที่อาจมีอยู่ ซึ่งกลยุทธ์การบริหารบัญชีที่สำคัญ ประกอบไปด้วย

  • ให้ความสำคัญกับระบบบัญชีถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรตระหนักถึงความสำคัญของระบบบัญชีต่อองค์กร เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายยังคงไม่ใส่ใจกับการจัดทำบัญชี ซึ่งผู้ ประกอบการเอสเอ็มอีพึงตระหนักว่าการกระทำใดๆ ที่หลีกเลี่ยงการบันทึกรายการบัญชีด้วยวัตถุประสงค์ใดๆก็ตาม  จะเป็นการเสี่ยงต่อความสูญเสียทั้งความพยายาม เวลา และทรัพย์สิน เนื่องจากจะทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อใช้ในการวิเคราะห์บริหารงาน และปรับปรุงธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสนใจกับการจัดทำระบบบัญชีในธุรกิจ เพื่อให้ระบบการทำงานภายในมีข้อมูลครบถ้วนถูกต้องในกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น และสามารถตรวจสอบย้อนหลังไปได้

  • ทั้งนี้ การที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะหันมาจัดทำระบบบัญชีใหม่อย่างจริงจัง ควรมีความสอดคล้องกับธรรมชาติการดำเนินธุรกิจของตนเอง เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละประเภท ในแต่ละสถานที่มีความแตกต่างกันการนำระบบบัญชีของธุรกิจอื่นมาใช้โดยตรงอาจไม่สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงและการปรับปรุงแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจอาจทำได้ไม่เต็มที่

  • จัดทำงบประมาณธุรกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถจัดทำงบประมาณได้สอดคล้องกับสถานการณ์การดำเนินธุรกิจ  การเข้าใจและจัดทำงบประมาณได้อย่างเป็นระบบสอดคล้องกันทั้งในส่วนของงบประมาณดำเนินงาน(งบประมาณขาย ผลิต วัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายการผลิตและค่าใช้จ่ายการขายและบริการ) และการจัดทำงบประมาณการเงิน

  • (งบประมาณเงินสด กำไรขาดทุน และงบดุล) จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับส่วนต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง อันจะสามารถปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • เลือกวิธีการบัญชีที่เหมาะสมกับกลยุทธ์ของธุรกิจ เนื่องจากเทคนิควิธีการคำนวณและจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชีที่มีอยู่หลากหลายวิธี ซึ่งจะส่งผลต่องบประมาณดำเนินงาน และงบประมาณการเงินที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเลือกวิธีการบัญชีที่สอดคล้องกับรูปแบบกลยุทธ์ธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่นการเลือกวิธีการบัญชีที่เหมาะสมในการคำนวณต้นทุนหมุนเวียนสินค้า ซึ่งมีวิธีการคำนวณหลักอยู่ 3 วิธี โดยจะมีผลต่องบกำไรขาดทุนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการต้องการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างไร ถ้าต้องการแสดงผลงานที่ดีมีกำไรเร็วก็ต้องเลือกใช้วิธีเข้าก่อนออกก่อน แต่หากต้องการในลักษณะตรงกันข้ามก็ต้องเลือกใช้วิธีเข้าหลังออกก่อน อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจเลือกเดินสายกลางโดยเลือกใช้วิธีถัวเฉลี่ย ซึ่งราคาต้นทุนของสินค้าที่ขายจะถูกเฉลี่ยให้เท่ากันหมด กำไรขาดทุนจากการขายสินค้าดังกล่าวจะมีจำนวนเงินเท่ากันตลอดช่วงเวลาที่ราคา ขายของสินค้าเหล่านี้ไม่เปลี่ยนแปลง

  • วิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณจำหน่าย และกำไร เทคนิคการวิเคราะห์โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุน ปริมาณจำหน่ายและกำไร(Cost Volume Profit Analysis : CVP Analysis) ถือเป็นเทคนิคที่ใช้ในการตอบคำถามสำหรับผู้ประกอบธุรกิจอยู่เสมอโดยเมื่อปัจจัยตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปจะทำให้ปัจจัยอื่นเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งคำถามที่มักใช้เทคนิคดังกล่าวหาคำตอบได้แก่ยอดขายเท่าไรที่ขายแล้วทำให้คุ้มทุน หรือทำให้ได้กำไรตามที่ต้องการ หรือคำถามหากมีการเปลี่ยนแปลงในราคาขายต้นทุนผันแปร  ต้นทุนคงที่  หรือปริมาณขายจะส่งผลกระทบต่อกำไรอย่างไร เป็นต้น ซึ่งสูตรคำนวณที่ใช้ตอบคำถามเหล่านี้ ได้แก่ การวิเคราะห์คำนวณหาจุดคุ้มทุน การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงต้นทุน ราคาขาย ปริมาณขาย และการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงวิธีส่งเสริมการขาย ซึ่งผู้ประกอบการ SME ควรศึกษาและนำเทคนิคต่างๆเหล่านี้มาใช้ประกอบการวางแผนการบริหารและการประเมินผลการดำเนินธุรกิจ

  • ติดตามข้อมูลทางบัญชีและปรับใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม การนำเสนอรายงานทางบัญชีบางชนิดหากช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็นอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารธุรกิจได้มากขณะที่การมีข้อมูลทางบัญชีที่มากเกินไปในช่วงเวลาหนึ่งๆ อาจก่อให้เกิดความสับสนในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงควรติดตามและจัดทำข้อมูลทางบัญชีแต่ละประเภทในเงื่อนเวลาที่เหมาะสมที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มที่

  • นำระบบไอทีมาประยุกต์ใช้ เนื่องจากในปัจจุบันองค์กรธุรกิจต่างๆ มักจัดทำระบบบัญชีอยู่ในคอมพิวเตอร์ เพื่อความรวดเร็วในการวิเคาระห์ และความสะดวกในการเรียกใช้ข้อมูล รวมถึงการจัดเก็บข้อมูล ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการ     เอสเอ็มอีจึงควรนำระบบการทำบัญชีผ่านทางคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้กับการบริหารธุรกิจ โดยการนำฐานข้อมูล   มาประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการบริหาร การตัดสินใจต่างๆ และการประเมินผลเฉพาะด้านให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

โดยสรุป
     การบริหารบัญชีถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะ
วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถบริหารระบบบัญชีภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำข้อมูลทางบัญชีมาประยุกต์ใช้ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ การควบคุม การประเมินผล และการปรับปรุงแก้ไขงานจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผน ดำเนินการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวไกลในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน

 
 

ที่มา : http://www.classifiedthai.com/content.php?article=3309

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์